“สตาร์ทอัพดังๆ มักมีเพนพ้อยท์ของตัวเอง หรือมีประสบการณ์อยู่ในธุรกิจมาก่อน”
เป็นมุมมองของ “กฤษณะ อุดมพงษ์” ซึ่งเวลานี้ก้าวจากชีวิตเอสเอ็มอี (ทำธุรกิจเวดดิ้งแพลนเนอร์กับซอฟท์แวร์เฮ้าส์ซึ่งปัจจุบันยังคงทำอยู่) มาสู่สังเวียนของสตาร์ทอัพด้วยการพัฒนา Application TUNJAI (ทันใจ แอพพลิเคชั่น) ที่ช่วยทำให้การรายงานยอดขายประจำวัน ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป
เพราะเพียงแค่การทำงานด้วยปลายนิ้วของพนักงานขาย ยอดขายสินค้าของแต่ละสาขาจะถูกส่งตรงถึงระบบหลังบ้าน สามารถดูรายงานได้ทันที ทั้งยอดขาย และสต๊อกสินค้า ด้วยความถูกต้อง แม่นยำ อีกทั้งการทำงานก็จะไม่ซ้ำซ้อน
ต้องบอกว่าเส้นทางเดินของเขาเวลานี้คล้ายคลึงกับสตาร์ทอัพดัง เนื่องจากที่มาที่ไปของ “ทันใจแอพ” นั้นเกิดขึ้นมาเพื่อดิสรัปชั่น ระบบการขายแบบเดิมๆ ให้มีประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น
เขาเล่าย้อนกลับไปราวเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่เรียนจบด้านบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยหอการค้า ตัวเขาได้มีโอกาสทำงานกับบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับดีพาร์ทเมนท์สโตร์จึงทำให้เห็นปัญหาซึ่งเป็นเรื่องของการรายงานยอดขาย ทั้งนี้เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย การรายงานยอดขายสินค้าต่างๆที่นำไปวางขายในห้างสรรพสินค้า หรือดีพาร์ทเมนท์สโตร์ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศต้องใช้วิธีส่งกันทางไปรษณีย์ซึ่งกว่าจะส่งหมดส่งครบก็กินเวลาเป็นสัปดาห์
“แต่ไม่นานมานี้ ผมได้กลับไปเยี่ยมที่บริษัทเดิมก็ได้เห็นว่าการทำงานยังคงเป็นแบบเดิมๆ แต่เปลี่ยนจากไปรษณีย์เป็นการส่งยอดขายกันทางอีเมล์ ทางไลน์ หรือใช้วิธีโทรศัพท์เช็คยอดกันว่าวันนี้ขายอะไรได้เท่าไหร่ ผมเลยสนใจคิดที่จะแก้ไขปัญหา”
เริ่มต้นเขาได้ลองทำตัวเบต้าขึ้นมาซึ่งก็ช่วยตอบโจทย์ได้ในระดับหนึ่ง จากนั้นก็มีการทำรีเสิร์ซเพื่อค้นหาว่ามีช่องว่างทางการตลาดอยู่จริงหรือไม่ เมื่อพบว่ามีโอกาสความเป็นไปได้ก็ทำออกมาเป็นโปรดักส์ขายให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งระยะแรกก็ต้องแก้ไขยังไม่ลงตัว กระทั่งเขาคิดหาทางพัฒนาเพื่อให้สามารถใช้ในแบบที่เป็นแมสและมีราคาที่ไม่แพงมาก
แทนที่จะขายเป็นโซลูชั่นขายกันชุดซึ่งมีราคาสูง และส่งผลเป็นอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจซื้อ ก็เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบของแอพบนมือถือที่ใช้ได้ง่าย มีราคาถูก
“แค่พนักงานขายแต่ละสาขาดาวน์โหลดแอพลงมือถือแล้วล็อคอินใส่พาสเวิร์ดเพื่อเข้าระบบ เราก็จะมีปุ่มกดง่ายๆ ถ้าจะขายของก็เลือกที่ตัวขายแล้วเขาสามารถสแกนที่ตัวสินค้าส่งได้เลย ส่วนจะเป็นสินค้าประเภทไหน ลดราคาเท่าไหร่ ตรงนี้ระบบหลังบ้านจะผูกให้แล้ว แอพเราจะไปแมตซ์ให้แล้วทั้งหมด พนักงานแค่สแกนส่งก็จบไม่ต้องเรียนรู้อะไรเยอะ”
ประโยชน์ที่เกิดขึ้นคือการช่วยทำให้บริษัทสามารถรับรู้ยอดขายแบบเรียลไทม์ ได้รับข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีความถูกต้อง (เชื่อมต่อเข้ากับระบบอีอาร์พีกับระบบอื่นๆของบริษัทได้) สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับกลยุทธ์การขายได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งยังติดตั้งได้ง่าย ใช้ได้ทั้งบนแอนดรอยด์และไอโอเอส และมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นเพียง 159 บาท เท่านั้น
“ในระบบเดิมถ้ามีจุดขาย 200 แห่ง อย่างน้อยก็ต้องมีพนักงาน 200 คนที่ต้องส่งรายงานการขายเข้ามาในบริษัท ซึ่งเดี๋ยวนี้ใช้ไลน์ส่งเข้ามา แต่ไลน์ก็ไม่ได้ออกแบบเพื่อรายงานยอดขาย แค่ส่งมาให้รู้ว่าขายอะไร กี่ชิ้น ได้เงินเท่าไหร่ ไม่ได้มีการจัดแยกสินค้าออกเป็นหมวดหมู่ แต่ทันใจแอพจะเตรียมฐานข้อมูลำหรับหลังบ้านไว้ก่อนหน้า ซึ่งรวบรวมไอเท็มสินค้าของแต่ละแบรนด์จึงแยกยอดขายเพื่อส่งไปที่หลังบ้าน หรือสำนักงานใหญ่ได้ทันที”
อีกหนึ่งประโยชน์ที่โดดเด่นเห็นได้ชัดก็คือ บริษัทสามารถลดจำนวนพนักงานลงได้ ซึ่งหมายถึงเงินเดือนที่ต้องจ่ายก็ลดลงด้วย กฤษณะบอกว่าในอดีตเวลาบริษัทต่างๆต้องรวบรวมยอดขายจากในกระดาษหรือจากไลน์ก็แล้วแต่ ก็จะต้องมีทีมซัพพอร์ต 4 คนเป็นอย่างต่ำเพื่อรับออร์เดอร์เข้ามาจากทั่วประเทศ
คำถามก็คือ ในเมื่อเทคโนโลยียุคสมัยนี้มีความก้าวหน้าแต่ทำไมบริษัทยังคงใช้วิธีการแบบเดิมๆ? คำตอบก็คือ แม้ว่าจะมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ช่วยแก้ไขอยู่มากมายในท้องตลาด แต่เหตุผลหลักๆเป็นเรื่องของราคาที่สูงลิ่วทำให้เอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี
“อย่างเช่นถ้าจะติดพีโอเอสในแต่ละจุด ลำพังแค่ค่าซอฟท์แวร์ก็เป็นเงินประมาณหมื่นกว่าบาท ยังต้องมีค่าฮาร์ดแวร์พวกคอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ตอีก อย่างต่ำก็ต้องใช้เงินถึง 2-4 หมื่นบาท นั่นหมายถึงถ้าบริษัทวางขายสินค้า 200 สาขา ก็ต้องลงทุนมากถึง 4 ล้านบาท”
ในวันนี้ทันใจแอพได้ลอนซ์สู่ตลาดมาเป็นเวลากว่าสามเดือนแล้ว เมื่อพูดถึงฟีดแบ็ค กฤษณะบอกว่าเขามีลูกค้าจำนวน 3 บริษัทแล้ว ซึ่งได้มาจากคอนเน็คชั่นของตัวเขาเอง
“ด้วยความที่ผมเคยอยู่ในธุรกิจนี้อยู่แล้ว และมีเครือข่ายก็คือเพื่อนฝูงที่ยังคงทำงานในธุรกิจค้าปลีก เขาก็ช่วยแนะนำเราให้กับเจ้าของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือของเล่น เพราะทันใจแอพใช้ได้กับสินค้าทุกเซ็กเมนท์ และเราก็จะให้บริษัทใช้ได้ฟรี 1 เดือนอีกด้วยเพื่อให้เขาทดสอบว่า แอพเราตอบโจทย์หรือไม่”
แต่แม้ว่าจะผ่านประสบการณ์มาก่อน แม้จะรู้ลึกถึงความต้องการ แต่ก็แค่เพียงสินค้ากลุ่มเครื่องแต่งกายเท่านั้น กฤษณะบอกว่าเมื่อเป็นสินค้าอื่นๆที่นอกเหนือไปจากนี้ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบแอพอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป
ในขณะเดียวกัน บางเรื่องกลับไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการตัดสินใจซื้อหรือไม่ซึ้อที่สุดจะขึ้นอยู่กับตัวเจ้าของบริษัทซึ่งเป็นธรรมชาติของธุรกิจเอสเอ็มอี ดังนั้นจะไม่เกิดประโยชน์หากนำเสนอทันใจแอพผ่านไปทางฝ่ายขาย หรือฝ่ายไอที แต่จะเกิดผลดีที่สุดหากยิงตรงไปที่ตัวเจ้าของเลย
ทำให้เขาตัดสินใจนำเอาทันใจแอพเข้าสู่โครงการ “ทรูอินคิวบ์” เนื่องจากตระหนักว่าคอนเน็คชั่นที่มีอยู่ยังมีไม่พอ แต่องค์กรใหญ่อย่างทรูน่าจะช่วยสนับสนุนและช่วยทำให้ความสามารถในการเข้าถึงผู้ประกอบการทำได้มากยิ่งขึ้น
กฤษณะวางแผนไว้ว่า ภายในปีนี้จะต้องมี 5 บริษัทที่ใช้บริการทันใจแอพ ซึ่งปัจจุบันลูกค้า 3 รายนั้นมีพนักงานใช้งานอยู่ราวๆ 300 กว่าคน และเมื่อมีบริษัทเพิ่มขึ้นอีกสองบริษัทก็หมายความว่าจะมีพนักงานที่ใช้งานประมาณ 700-800 คน อย่างไรก็ดี ในปีหน้าเขามีเป้าหมายจะเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยคาดหวังจำนวนผู้ใช้งานไว้ที่ 3 พันคน
“ทันใจแอพอาจดูโตแบบชิลๆไปหน่อย สตาร์ทอัพส่วนใหญ่จะเน้นการสเกลของจำนวนยูสเซอร์ แต่เรามุ่งเน้นการโตแบบยั่งยืน ต้องบริการลูกค้าได้จริง เป็นโปรดัสก์ที่ใช้งานได้จริง”
โอกาสในมุมผู้มีประสบการณ์
กฤษณะมองภาพแวดวงสตาร์ทไทยในเวลานี้ดูสวยหรูเกินจริง กระทั่งอาจนำไปสู่วงจรของการ “เกิดง่าย ตายเร็ว”
“ไม่แค่ไอเดียที่ดี แต่สตาร์ทอัพต้องรู้วิธีที่จะอยู่ให้รอดและเติบโตได้ด้วย สำหรับผมแล้วความสำเร็จขึ้นอยู่กับการที่เราได้เห็นและพยายามเข้าใจว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริง แล้วต้องโฟกัสกับมันอย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าในยังมีช่องว่างอีกมากมายในหลายๆธุรกิจ”
อย่างเช่นตอนที่เขาตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อมาเปิดธุรกิจเวดดิ้งแพลนเนอร์ เพราะก่อนหน้านั้นเขาแต่งงานแล้วรู้สึกผิดหวังกับบริการของบริษัทที่มาดูแลงานแต่ง และจากประสบการณ์ที่เคยเป็นบ่าวสาวมาหมาดๆเลยทำให้เข้าใจถึงความต้องการเป็นอย่างดีว่าต้องการอะไร หวังจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษอย่างไร เป็นต้น
ถามว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเขาเคยประสบความผิดพลาดหรือเคยพบกับความล้มเหลวหรือไม่? เขาบอกว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากตัวเองยังไม่เคยเจอ แต่ส่วนใหญ่เกิดจากสภาพแวดล้อมหรือปัจจัยอื่นๆทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา
“ที่บอกว่าตัวเองไม่เคยผิดพลาด คงเป็นเพราะผมไม่เคยตั้งความหวังไว้สูงเลย ถ้าไม่เฟลถึงขั้นล้มละลายก็ยังถือว่าเราได้ทำ ได้ลองผิดลองถูก ผมมองเป็นประสบการณ์มากกว่า ไม่ได้มองเป็นความล้มเหลว ความผิดพลาดที่ผ่านมาอาจเป็นการเลือกเครื่องมือ หรือเลือกช่องทางที่ผิด ผมไม่ถือเป็นความล้มเหลว แต่ถือว่าได้ประสบการณ์”